หลักการและเหตุผล
การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และการสร้างศักยภาพทางการผลิตและการบริการเพื่อยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ จำเป็นต้องเพิ่มสมรรถนะทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของภาครัฐบาลและภาคเอกชน และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศให้เกื้อหนุนการพัฒนาประเทศอย่างแท้จริง นอกจากนี้ยังต้องเสริมสร้างสมรรถนะทางวิศวกรรมและสมรรถนะทางเทคโนโลยีอื่นๆ ตลอดจนการบริการทางเทคโนโลยีด้านต่างๆ ไปพร้อมกันด้วย จึงจะสามารถนําวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ปรับปรุงและพัฒนาการผลิต การบริการ และกิจกรรมต่อเนื่องต่างๆ ทั้งทางภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกรรม และภาคบริการ รวมทั้งช่วยให้ภาคการผลิตสามารถรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ดังนั้น การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีครอบคลุมกิจกรรมหลายประเภทและต้องอาศัยทุนจํานวนมากทั้งจากภาครัฐบาลและจากแหล่งทุนอื่นทั้งภายในและต่างประเทศ จึงจำเป็นต้องจัดตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อเป็นทุนในการใช้จ่ายและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ที่มาของกองทุน/เงินทุน
จัดตั้งตามความในมาตรา ๑๗ แห่ง พ.ร.บ.พัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พ.ศ.๒๕๓๔ เมื่อวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๓๔
การบริหารจัดการกองทุน
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นหน่วยงานที่ดูแลและบริหารกองทุนพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตามกฎหมาย ข้อบังคับ และมติของคณะกรรมการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ โดยสามารถระดมทุนและบริหารทุนเพื่อดําเนินกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เกื้อหนุนองค์กรต่างๆ ได้อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งสามารถประสานการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่างภาครัฐบาลและภาคเอกชนให้บรรลุประโยชน์ร่วมสูงสุดต่อการพัฒนาประเทศ
ทั้งนี้การดำเนินงานและบริหารกองทุนพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอยู่ภายในการควบคุมดูแลของคณะกรรมการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (กวทช.) ซึ่งประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นรองประธานกรรมการ ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งเป็นกรรมการไม่เกินยี่สิบสองคน โดยให้แต่งตั้งจากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับผู้ซึ่งมิใช่ข้าราชการจํานวนฝ่ายละเท่า ๆ กัน และให้ผู้อํานวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นกรรมการและเลขานุการ (กวทช. ชุดปัจจุบัน)
รูปแบบ/แนวทางการพัฒนา ว และ ท
สวทช. มุ่งสร้างเสริมการวิจัย พัฒนา ออกแบบ และวิศวกรรม (Research Development Design and Engineering) จน สามารถถ่ายทอดไปสู่การใช้ประโยชน์ (Technology Transfer) พร้อมส่งเสริมด้านการพัฒนากำลังคน (Human Resource Development) และโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ด้าน ว และท ที่จำเป็น ทั้ง การให้บริการวิเคราะห์ทดสอบ และการให้บริการเช่า/ใช้พื้นที่ รวมถึงการให้บริการด้านธุรกิจและการลงทุนต่างๆ เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันและพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน
ซึ่ง สวทช. ได้ดำเนินงานผ่านการทำงานร่วมกันของศูนย์ทั้ง 5 ศูนย์ ได้แก่
- ศูนย์พันธุวิศวกรรม และเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC)
มุ่งพัฒนางานด้าน เทคโนโลยีชีวภาพ - ศูนย์เทคโนโลยีโลหะ และวัสดุแห่งชาติ (MTEC)
มุ่งพัฒนางานด้านเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับวัสดุต่างๆ - ศูนย์เทคโนโลยี อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC)
มุ่งพัฒนางานด้าน อิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ - ศูนย์นาโนเทคโนโลยี แห่งชาติ (NANOTEC)
มุ่งพัฒนางานด้านนาโน เทคโนโลยี - ศูนย์บริหารจัดการ เทคโนโลยี (TMC)
มุ่งให้ความช่วยเหลือนักวิจัยและบริษัทต่างๆ ในการนำผลงานการ ค้นพบและเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์