สวทช.แถลงมอบทุน 20 ล้านแก่ 2 นักวิจัยแกนนำ สานต่องานวิจัยเพื่อพัฒนาด้านทันตกรรม และด้านการเกษตร หวังจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อสังคม และประเทศชาติ
12 พ.ย. 2555 ณ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี : สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดแถลงข่าวและพิธีมอบทุนนักวิจัยแกนนำ ประจำปี 2555 แก่ ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ ภวสันต์ คณะทันตแพทยศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้โครงการ การพัฒนาเซลล์ต้นกำเนิดจากเนื้อเยื่อฟันเพื่องานวิศวกรรมเนื้อเยื่อกระดูกและเนื้อเยื่อปริทันต์ และรศ.ดร.อภิชาติ วรรณวิจิตร คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ภายใต้โครงการเทคโนโลยีก่อกลายพันธุ์ทั้งจีโนมเพื่อเพิ่มศักยภาพการปรับปรุงพันธุ์ข้าวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดย ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า
“ปัจจุบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของมนุษย์มากยิ่งขึ้น ดังนั้นการส่งเสริมและสนับสนุนงานวิจัย เพื่อให้เกิดการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ สวทช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ทำหน้าที่ในการหากลไก และนโยบาย ที่เอื้อให้นักวิจัยได้ทำงานอย่างเต็มศักยภาพ และสร้างผลงานวิจัยที่เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศกลไกหนึ่งที่ สวทช. ได้ดำเนินการ คือ การให้ทุนวิจัยขนาดใหญ่เป็นระยะเวลาต่อเนื่อง แก่นักวิจัยที่มีขีดความสามารถสูง ได้มาทำงานร่วมกัน ใน “โครงการทุนนักวิจัยแกนนำ” จากการดำเนินการของโครงการขนาดใหญ่ดังกล่าว นับเป็นแนวทางที่ได้ผลดี ที่สร้างแรงจูงใจให้นักวิจัยสร้างผลงานที่เป็นประโยชน์กับประเทศ ทั้งในด้านสาธารณสุข ด้านเกษตรกรรม ด้านอุตสาหกรรม อีกทั้งยังช่วยพัฒนานักวิจัยรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพให้กับประเทศอีกด้วย
เมื่อต้นปี 2555 สวทช. ได้เปิดรับสมัครข้อเสนอโครงการทุนนักวิจัยแกนนำ และได้รับข้อเสนอโครงการ จากนักวิจัยชั้นนำและมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ จากหลากหลายสถาบันทั่วประเทศ จำนวน 16 โครงการ ซึ่งทุกโครงการได้ผ่านการพิจารณา จากทั้งผู้เชี่ยวชาญในสาขา และคณะกรรมการทุนนักวิจัยแกนนำ โดยการพิจารณาคัดเลือก จากคุณสมบัติ และศักยภาพของหัวหน้าโครงการที่จะนำทีมวิจัยให้บรรลุจุดมุ่งหมาย ทั้งในด้านการสร้างความเข้มแข็งของกลุ่มวิจัย การพัฒนากำลังคน รวมไปถึงมีศักยภาพในการเชื่อมโยงองค์ความรู้ด้านวิชาการ เข้ากับภาคการผลิตและบริการ โดยสามารถสร้างสรรค์ผลงานวิจัยที่มีสามารถนำไปพัฒนาต่อยอด จนมีศักยภาพเพียงพอที่จะนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงสาธารณประโยชน์ หรือเชิงพาณิชย์ได้
สำหรับทุนนักวิจัยแกนนำ ประจำปี 2555 ท่านแรก ศ.ดร.ทพ.ประสิทธิ์ ภวสันต์ สังกัด คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากโครงการวิจัยเรื่อง “การพัฒนาเซลล์ต้นกำเนิดจากเนื้อเยื่อฟันเพื่องานวิศวกรรมเนื้อเยื่อกระดูกและเนื้อเยื่อปริทันต์” รับทุนนักวิจัยแกนนำ จำนวน 20,000,000 บาท
ศ.ดร.ทพ.ประสิทธิ์ ภวสันต์ เป็นนักวิจัยที่ได้อุทิศตนให้กับการทำวิจัย โดยเป็นผู้บุกเบิกงานวิจัยด้าน cell and tissue engineering ของประเทศ และเป็นที่ยอมรับอย่างสูงในวงการทันตแพทย์ของประเทศ โครงการนี้มีจะพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านเซลล์ต้นกำเนิดจากเนื้อเยื่อฟัน โดยมุ่งเน้นที่กระบวนการในการควบคุมภาวะความเป็นเซลล์ต้นกำเนิด และการแปรสภาพเป็นเซลล์สร้างกระดูก เพื่อที่จะสามารถเพิ่มจำนวนเซลล์ต้นกำเนิดในห้องปฏิบัติการให้ได้จำนวนมากเพียงพอต่อการนำไปใช้งานทางด้านวิศวกรรมเนื้อเยื่อกระดูก รวมทั้งพัฒนาโครงร่างเทียมที่เหมาะสม และศึกษากลไกการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายที่มีต่อเซลล์ต้นกำเนิดจากฟันเพื่อป้องกันผลข้างเคียงจากระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งผลงานดังกล่าวจะเป็นการสร้างองค์ความรู้ใหม่ของเซลล์ต้นกำเนิด อันจะสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในทางคลีนิกต่อไปได้
ท่านที่สอง รศ.ดร.อภิชาติ วรรณวิจิตร สังกัด ภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จากโครงการวิจัย เรื่อง “เทคโนโลยีก่อกลายพันธุ์ทั้งจีโนมเพื่อเพิ่มศักยภาพการปรับปรุงพันธุ์ข้าวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” รับมอบทุนนักวิจัยแกนนำ จำนวน 19,930,000 บาท
สำหรับ รศ.ดร.อภิชาติ วรรณวิจิตร เป็นนักวิจัยข้าวระดับนานาชาติ มีประสบการณ์การทำงานวิจัยทางพันธุศาสตร์พืชไร่ มานานกว่า 20 ปี สร้างผลงานในรูปแบบการออกพันธุ์ข้าวใหม่ๆ ผลงานเป็นที่ประจักษ์จนได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2549 และรางวัลเกียรติคุณบุคคลดีเด่นของชาติ สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำปี 2555 โครงการนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาพันธุ์ข้าวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีความสามารถในการต้านทานโรคและแมลงศัตรูพืชในระดับสูง พอที่เกษตรกรไม่จำเป็นต้องใช้สารควบคุมศัตรูพืชอีกต่อไป ข้าวเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมยังต้อง สามารถอยู่รอดให้ผลผลิตได้แม้เกิดมหาอุทกภัย ต้องผจญกับอุณหภูมิสูง/ต่ำกว่าปกติ สภาวะแห้งแล้งและดินเค็ม นอกจากนี้ข้าวพันธุ์กลายทั้งที่ถูกค้นพบแล้วและกำลังถูกค้นพบใหม่ จะเป็นแหล่งความรู้ที่ทำให้เกิดความเข้าใจพันธุกรรมของข้าว ในการค้นหาและเข้าใจหน้าที่ของยีนใหม่ๆ ได้อย่างชัดเจน การเตรียมความพร้อมเหล่านี้ จะเพิ่มศักยภาพในการปรับปรุงพันธุ์ข้าวเพื่อรองรับปัญหาต่างๆที่จะเกิดขึ้น นับว่ามีประโยชน์มากสำหรับประเทศไทย
ด้าน ศ.นพ.ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ เลขานุการทุนนักวิจัยแกนนำ สวทช.กล่าวเสริมว่า”สวทช. ได้ให้การสนับสนุนทุนนักวิจัยแกนนำตั้งแต่ปี 2552-2554 ไปแล้ว ทั้งสิ้น 5 โครงการ ผลจากการดำเนินงานของโครงการแต่ละโครงการมีผลการดำเนินงานที่ดีเยี่ยม สามารถผลิตผลงานที่มีคุณภาพในระดับสูง ไม่ว่าจะเป็น ผลิตภัณฑ์ต้นแบบ 3 ต้นแบบ คือ ชุดตรวจฮีโมโกลบินอี แบบรวดเร็ว ข้าวกึ่งสำเร็จรูป และข้าวกล้องงอกที่ผลิตจากข้าวเปลือก ผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติมากกว่า 100 เรื่อง สิทธิบัตร 9 เรื่อง มีการผลิตบุคลากรในระดับปริญญาโท ปริญญาเอก และหลังปริญญาเอก รวม 165 คน อีกทั้งยังมีการนำผลงานวิจัยไปเผยแพร่ใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์อีกหลากหลายผลงานแล้ว”